วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Bill of exchange

ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange)

                ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) คือ ตราสารการเงินระยะสั้น ที่บุคคลรายหนึ่งสั่งให้บุคคลอีกรายหนึ่ง จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่บุคคลอีกรายหนึ่ง ในวันที่กำหนดบนหน้าตั๋วแลกเงินนั้น ตั๋วแลกเงินสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดเงิน (money market) ส่วนใหญ่จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล หรือสลักหลังอย่างไม่มีเงื่อนไข ตั๋วเงินชนิดหนึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหนี้ มักใช้ในการซื้อขายสินค้าหรือกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร โดยทั่วไปสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้
การออกตั๋วแลกเงิน
แนวคิด
1. ตั๋วแลกเงินต้องมีรายการได้แก่ (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน (3) ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย (4) ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ และ (5) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หากรายการดังกล่าวขาดตกบกพร่องไป ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน
2. วันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินก็คือ วันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋ว ซึ่งแยกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ (1) ตั๋วแลกเงินที่สั่งให้ใช้เงินเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น (2) ตั๋วแลกเงินที่กำหนดเวลาให้ใช้เงิน
3. ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินเกิดขึ้นโดยเงื่อนไขว่าผู้ทรงต้องยื่นตั๋วต่อผู้จ่ายก่อน ถ้าผู้จ่ายไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินและผู้ทรงจัดให้ทำคำคัดค้านแล้วผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะใช้เงินแก่ผู้ทรง
4. ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดและข้อกำหนดลดหน้าที่ของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินแยกได้ 2 ประการ ได้แก่ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังที่มีต่อผู้ทรง (2) ข้อกำหนดลดหน้าที่ของผู้ทรงที่มีต่อผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง

รายการในตั๋วแลกเงิน
        ตั๋วแลกเงิน หมายถึง หนังสือตราซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้จ่าย” ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน” ตั๋วแลกเงินจึงเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินนั่นเอง
อนุมาตรา (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
        คำบอกชื่อว่าตั๋วแลกเงินมีความหมายสำคัญเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรู้เห็นทราบได้ทันทีว่าตราสารนั้นเป็นตราสารพิเศษ และเนื่องจากเมื่อตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น ตั๋วเงินเป็นของใหม่ไม่สู้แพร่หลาย จึงต้องบัญญัติให้ระบุลงไปในตั๋วให้ชัดแจ้งว่าเป็นตั๋วแลกเงิน ประกอบกับ Uniform Law (1930) ซึ่งเราอาศัยเป็นหลักในการร่างกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน
        สำหรับตั๋วแลกเงินมาจากต่างประเทศ อาจไม่มีคำว่า ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เพราะบางประเทศ กฎหมายของเขาไม่บังคับให้ต้องระบุดังในมาตรา 909 (1) อย่างไรก็ดี คำบอกชื่อว่าตั๋วแลกเงินไม่จำเป็นต้องเขียนที่หัวกระดาษ อาจเป็นข้อความในตั๋วเงินว่า first of exchange ก็ได้
อนุมาตรา (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
        รายการนี้เป็นข้อบังคับเด็ดขาด ถ้าขาดไปจะไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน (มาตรา 910) ตามรูปตัวอย่างตั๋วแลกเงินคือ “โปรดจ่ายเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาท” ถ้าไม่กรอกจำนวนเงินเสียเลยหรือกรอกจำนวนเงินมิได้เป็นไปตามที่ผู้สั่งจ่ายขอร้อง ตั๋วแลกเงินนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ อธิบายแยกได้เป็น 3 หัวข้อ คือ
ก. คำสั่ง หมายความว่า เป็นคำบงการหรือคำบอก เพื่อให้ทำหรือให้ปฏิบัติโดยไม่ให้โอกาสเลือกทำหรือเลือกปฏิบัติของผู้รับคำสั่งและมิใช่เพียงแต่คำขอร้องหรือคำอ้อนวอนที่ผู้รับคำขอร้องหรือคำอ้อนวอนจะทำตามหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี “คำสั่ง” ก็ไม่จำต้องเขียนลงไปในตัวแลกเงินตรงๆ ว่า “ข้าพเจ้ามีคำสั่งให้จ่ายเงิน” เพราะอาจใช้ถ้อยคำสุภาพลงไปในคำสั่งนั้นได้ เช่น “โปรดจ่ายเงิน” ซึ่งจะไม่ทำให้ตั๋วแลกเงินฉบับนั้นเสียไปเพราะมีความหมายเป็นข้อความกำหนดให้จ่ายเงินโดยผู้จ่ายไม่มีโอกาสเลือกจ่ายหรือไม่จ่ายตามอัธยาศัยของผู้จ่ายเช่นเดียวกัน
ข. อันปราศจากเงื่อนไข หมายความว่า ลักษณะสำคัญที่สุดของตั๋วแลกเงิน คือ ความแน่นอนที่ตั๋วแลกเงินจะต้องได้รับการจ่ายเงินตามตั๋วนั้น จะมีเงื่อนไขในการคำสั่งให้จ่ายเงิน ตั๋วแลกเงินนั้นย่อมเกิดความไม่แน่นอนขึ้น คำว่าเงื่อนไข หมายความว่า เหตุการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน (เทียบมาตรา 182 เติมมาตรา 144) จึงต่างกับเงื่อนเวลา ซึ่งจะต้องมาถึงในอนาคตอย่างแน่นอน ดั้งนั้น ข้อความในคำสั่งให้จ่ายเงินจะเป็นเงื่อนไขหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความแน่นอนหรือไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งนั่นเอง
ค. ให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน หมายความว่า คำสั่งในตั๋วแลกเงินต้องเป็นคำสั่งจ่ายเงินถ้าเป็นคำสั่งให้กระทำการอย่างอื่นนอกจากเงินแล้วจะไม่ใช่ตั๋วแลกเงิน แต่ถ้ามีคำสั่งว่าให้จ่ายเงินและสิ่งของอื่นควบไปด้วย คงมีผลเฉพาะคำสั่งให้จ่ายเงินเท่านั้น ส่วนคำสั่งที่ให้จ่ายสินค้าที่ระบุไว้ ย่อมไม่มีผลแก่ตั๋วแลกเงิน (มาตรา 899) และถ้ามีคำสั่งให้ผู้รับตั๋วแลกเงินเลือกเอาว่าจะรับเงินหรือรับสิ่งของอื่นแทน ดังนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นคำสั่งที่ไม่แน่นอน คำว่า “เงิน” หมายถึง เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติเงินตรา ตั๋วแลกเงินโดยมากใช้ในระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงสั่งจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศก็ได้ (มาตรา 196) คำว่า “เงินจำนวนแน่นอน” หมายความว่า ต้องเป็นเงินจำนวนที่เที่ยงแท้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปทางเพิ่มหรือทางลดลงได้
อนุมาตรา (3) ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

อ้างอิง
http://www.panyathai.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น